Vipassana - Mindfulness Meditation, Bangkok, Thailand

Vipassana - Mindfulness Meditation, Bangkok, Thailand

menu

[ หน้าแรก คำนำ ]
[ ปัญหาจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ]
[ ภาคปริยัติ (ทฤษฎี) - พื้นฐานหลักธรรมของชีวิต ]
[ ประวัติกรรมฐานในสมัยพุทธกาล ]
[ ประวัติกรรมฐานในประเทศไทย ]
[ หลักฐานอ้างอิงของ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในพระไตรปิฎก และคีมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ]
[ ตารางเปรียบเทียบ วิปัสสนากรรมฐาน รูปแบบบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ กับ มหาสติปัฏฐานสูตร ๒๑ บรรพ ]
[ ตารางเปรียบเทียบ กรรมฐานในสมัยพุทธกาล, วิปัสสนาญาณ ๑๖, วิสุทธิ ๗, ไตรสิกขา และอริยมรรคมีองค์ ๘ ]

[ ***ประโยชน์ของ การเจริญสติปัฏฐาน (วิปัสสนากรรมฐาน) ตามแนวของพระพุทธศาสนา ๓๑ ประการ - ฺฺBENEFITS OF VIPASSANA MINDFULNESS BUDDHISM MEDITATION ]

[ ***ประโยชน์ของ การเจริญสติ / สติคลายเครียด ตามแนวของจิตวิทยาทางการแพทย์ ๓๑ เรื่อง - BENEFITS OF MINDFULNESS in PSYCHOLOGY AND NEUROSCIENCE ]
[ ภาคปฏิบัติ และ เทคนิค ในวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ]
[ *****วิปัสสนาญาณ ๑๖ - เส้นทางและเป้าหมายของวิปัสสนากรรมฐาน ในรูปแบบกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ]
[ ปัจจัยที่ทำให้ วิปัสสนาญาณ ๑๖ ก้าวหน้า ]
[ ภาคปฏิเวธ ]

[ ประวัติ / ประสบการณ์การสอนวิปัสสนา เจริญสติ และการบรรยายของ อ.อณิวัชร์ เพชรนรรัตน์ - ผู้ก่อตั้ง ชมรมศูนย์เจริญสติ ]
[ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ แก่ ชุมชนรอบวัดและประชาชนทั่วไป ]
[ ประวัติแม่ชีบุญมี เวชสาร - วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร กรุงเทพฯ วิปัสสนาจารย์ สายพองยุบ ศิษย์ของ พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะมหาเถระ สำนักวิเวกอาศรม จ.ชลบุรี ]
[ ประวัติการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานของ แม่ชีบุญมี เวชสาร ]

[ เปิดสอน - 1.1 การเจริญสติ พัฒนา โรคทางใจ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR MENTAL DISORDERS and SUFFERINGS เช่น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder - MDD) โรคย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive Compulsive Disorder - OCD) โรคเครียด(Stress Reduction) โรควิตกกังวล(General Anxiety Disorder - GAD) โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (posttraumatic stress disorder - PTSD) โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder - ADHD) การเจ็บป่วยเรื้อรัง โรคนอนหลับยาก โรคโกรธง่าย และโรคทางใจอื่นๆ ด้วยหลักเจริญสติ ผสมผสานกับ หลักการและแนวคิดเพื่อพัฒนาปัญญา/สมอง ]

[ เปิดสอน - 1.2 การเจริญสติ ช่วยบรรเทา ลด ละ การติดยาเสพติด และป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR DRUG ADDICTED AND RELAPSE PREVENTION ]

[ เปิดสอน - 2. การเจริญสติ พัฒนานิสัยอารมณ์ตนเอง, ปัญหาการทำงาน/อาชีพ และ ปัญหาในครอบครัว - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR SELF, CAREER AND FAMILY HAPPINESS ]

[ เปิดสอน - 3. การเจริญสติ พัฒนาการเรียน สำหรับ นักเรียน และ นิสิต – MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR STUDENT EDUCATION ]

[ เปิดสอน - 4. การเจริญสติ พัฒนาการสอน/เลี้ยงลูก สำหรับ คู่สามีภรรยา – MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR CHILD TEACHING & PARENTING PREPARATION ]

[ เปิดสอน - 5. การเจริญสติ พัฒนาสมอง/ความจำ สำหรับ ผู้เกษียณ และ ผู้สูงอายุ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR RETIRED AND ELDERLY ]

[ เปิดสอน - 6. การเจริญสติ พัฒนานิสัยอารมณ์ /ปัญญา/ เป้าหมายของการบวช/ ไตรสิกขา เพื่อเป็นคนดีของครอบครัว ที่ทำงาน และสังคม สำหรับ พระภิกษุบวชใหม่ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR NEW BUDDHIST MONKS ]

[ 7. สนับสนุนสร้าง ศูนย์เจริญสติ - วิปัสสนากัมมัฏฐาน ประจำวัด และ ถวายสอน วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อสร้าง พระวิปัสสนาจารย์ - VIPASSANA MINDFULNESS MEDITATION CENTER IN A TEMPLE AND VIPASSANA MEDITATION MASTER FOR MONKS ]

[ 8. กิจกรรมแนะนำ และ สนับสนุนพัฒนาวัด เพื่อสร้าง แผนกปริยัติ ปฏิบัติ และ งานเผยแผ่ แก่ชุมชน - TEMPLE DEVELOPMENT CONSULTANT AND SUPPORT FOR KNOWLEDGE THEORY SECTION, PRACTICE SECTION AND BUDDHIST DISSEMINATION FOR COMMUNITY SERVICES ]

[ 9. VIPASSANA MINDFULNESS MEDITATION IN BANGKOK FOR FOREIGNERS TO DEVELOP SELF TEMPER/EMOTION, WORK/CAREER AND FAMILY HAPPINESS FOR FREE AS PUBLIC SERVICES AND BUDDHIST DISSEMINATION ]

[ 10. MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT AT WORK - การเจริญสติ/ปัญญา ในที่ทำงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้เกิดความสุข ปัญญา พัฒนาการทำงาน ปรับปรุงนิสัยตนเอง และ สร้างความสุขในครอบครัว ]

[ 11. MINDFULNESS AT SCHOOL - การเจริญสติใน โรงเรียน แก่ครู เพื่อสอนนักเรียน ในการพัฒนาการเรียน นิสัย ปัญหาครอบครัว สังคมเพื่อน และอนาคต ให้เกิดความสุข / ปัญญา ]

[ 12. CASE STUDIES FOR MENTAL DISORDER BY MINDFULNESS MEDITATION - กรณีศึกษา : ผู้เข้ารับการฝึกเจริญสติ เพื่อบรรเทาช่วยเหลือ โรคทางใจ เช่น โรคแพนิค โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคนอนหลับยาก โรคย้ำคิดย้ำทำ นอนหลับยาก ]

[ 13. กิจกรรมบริจาคทาน ของ ชมรมศูนย์เจริญสติ วัดลาดพร้าว ]

[ ALMA MATER and EXPERIENCES BACKGROUND OF VIPASSANA MEDITATION TEACHER ]


ภาคปริยัติ(ทฤษฎี) - พื้นฐานหลักธรรม


         ส่วนประกอบของชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนาได้แก่ กายและใจ(จิต) หรือ รูปกับนาม ทั้ง ๒ ส่วน มีธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป(มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งอยู่ได้ไม่นาน และไม่ใช่ตัวตนบุคคลหรือบังคับบัญชาตามใจได้) ที่เรียกว่า พระไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา)  ชีวิตถ้าอธิบายให้ละเอียดขึ้น ประกอบด้วยรูป ๑ ส่วน และนาม ๔ ส่วนที่เรียกว่า
         ขันธ์ ๕ ดังนี้
๑.    รูป คือร่างกาย อวัยวะ อิริยาบถต่าง ๆ และรูปธรรม(รูปปรมัตถ์) ของร่างกายที่มีทั้งหมด ๒๘ รูป ตาม
คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖ รูปปรมัตถ์
๒.    เวทนา คือการเสวยอารมณ์ของจิต ๓ ประเภท เช่น สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ (อุเบกขา) 
๓.    สัญญา คือความจำได้หมายรู้ หรือความทรงจำเก่าๆ ที่ถูกบันทึกเก็บไว้ในจิต
๔.    สังขาร คือสภาวธรรมที่ปรุงแต่งอารมณ์ของจิตไปสู่การเกิดเวทนา และอารมณ์อื่นๆ
๕.    วิญญาณ คืออารมณ์ของจิตภายใน(อายตนะภายใน ๖ ) ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ตัวอย่างของขันธ์ ๕ เช่น ขณะได้ยินเสียงสุนัขเห่า - รูป คือคลื่นเสียง, เวทนา คือได้ยินแล้วรู้สึกกลัว(ทุกขเวทนา), สัญญา คือจำได้ว่าเป็นเสียงสุนัข, สังขาร คือคิดปรุงแต่งว่าสุนัขจะเดินเข้ามากัด, และวิญญาณ คืออารมณ์ภายในของจิต ที่ได้ยินเสียงเห่า (โสตวิญญาณ)
            ชาวตะวันตกแม้ว่าจะไม่ได้ยอมรับว่าชีวิตหรือร่างกายประกอบด้วย กายและใจ หรือ รูปกับนาม เพียงแต่ยอมรับว่า นาม, ใจ หรือจิต เป็นเพียงการทำงานหรือส่วนหนึ่งของสมองเท่านั้น ซึ่งยอมรับแต่ในด้านรูปธรรม ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าถึงและอธิบายเรื่องจิตได้ลึกซึ้งเท่ากับของพุทธศาสนา  แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และนักควอนตัมฟิสิกส์ได้ค้นพบทฤษฎีใหม่ๆ ที่สอดคล้องและเชื่อม โยงไปสู่คำสอนของพุทธศาสนาในเรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นแก่นแท้ที่สำคัญที่สุดของชีวิต ถ้าหากเข้าใจและพัฒนาจิตจนเกิดปัญญาแล้ว จะสามารถดับทุกข์ และได้รับความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืน

พุทธศาสนาสอนว่าจิตสามารถเก็บบันทึกความชำนาญ ความรู้ นิสัย อารมณ์ บุญ บาป และความทรงจำไว้ในส่วนที่เรียกว่า ชวนะจิต ซึ่งทำงานเหมือนคลังเก็บของทั้งดีและไม่ดี  สำหรับสิ่งที่ไม่ดีหรือบาปอกุศลในจิต ที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์นั้น เกิดมาจาก

กิเลส ๓ ประเภทดังนี้
๑.    ความหลง(โมหะ) คือหัวหน้าใหญ่และเป็นต้นเหตุให้เกิด จิตโลภะ และจิตโทสะ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ที่บุคคลเกิดโมหะหรือขาดสติสัมปชัญญะเช่น อวิชชา ความไม่รู้ ขาดปัญญา คิดฟุ้งซ่าน ขาดสติ เหม่อลอย ดื้อรั้น ขาดเหตุผล เอาอารมณ์ตนเป็นใหญ่ ไม่เชื่อฟังผู้อื่น สงสัย รังเร ไม่กล้าตัดสินใจ ขาดความเชื่อมั่น เป็นต้น  ขณะเกิดโมหะ สิ่งที่จะเกิดเช่น ขาดสติไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ คิดฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ อ่านหนังสือได้ช้า ฟังไม่เข้าใจ ใจลอย คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง จับประเด็นสนทนาไม่ได้ ขาดความมั่นใจ หรือไม่กล้าแสดงออก เป็นต้น 

๒.    ความโกรธ(โทสะ) ประเภทของโทสะได้แก่ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ความไม่พอใจ โกรธ โมโห หงุดหงิด ขี้บ่น แค้น พยาบาท ไม่ได้ดั่งใจ รำคาญใจ ความกังวลใจ ความกลัว เป็นต้น  ขณะเกิดโทสะ ร่างกายจะมีลักษณะปรากฎเช่น แน่นหน้าอก อึดอัด ถูกบีบรัด กลั้นลมหายใจ เกร็ง ใจสั่น ตัวสั่น มือสั่น หน้าร้อน ตัวร้อน หัวใจเต้นเร็ว หรือ หน้าแดง เครียด ดุดัน เป็นต้น

๓.    ความโลภ(โลภะ) คือความอยากได้ อยากมี อยากเป็นทางโลก และหลงติดสุข ในการเสพอารมณ์ (ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)  แต่ถ้าอยากปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อลดโลภ โกรธ หลง เรียกว่า ฉันทะ ไม่ใช่โลภะ เพราะอยากทำในสิ่งที่ดีเป็นกุศล
ในขณะเกิดโลภะ จะปรากฎลักษณะเช่น ชอบใจ ดีใจ ยินดี พอใจ รู้สึกคล้ายยางเหนียว เนิบนาบ เกาะติด และระลึกรู้ได้ยากกว่าโทสะ เพราะอารมณ์โลภะมีความละเอียดอ่อน และหลบซ่อนได้ดีกว่าโทสะ


เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้ว มนุษย์จะแสดงออกตามพฤติกรรมของกิเลส ๓ ประเภทดังนี้
๑.      ทางกาย หรือการกระทำเช่น ฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่น แย่งสามีผู้อื่น มีชู้กับคนที่มีครอบครัว ขโมยเอาของผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น ไม่รู้จักช่วยเหลือ ขี้เหนียว ตระหนี่ ไม่แบ่งปันให้ผู้อื่น ทำโดยหวังผลตอบแทน ดื่มสุรา เบียร์ ของมึนเมา ตบตีทำร้ายร่างกาย ปาสิ่งของ ทำลายของเสียหาย เป็นต้น
๒.      ทางวาจา หรือคำพูดเช่น พูดประชดกระทบผู้อื่น พูดตามอารมณ์ พูดตามความต้องการอยาก พูดโดยขาดเหตุผล พูดให้ร้ายผู้อื่น พูดยุยงส่อเสียด พูดโกหก พูดเพ้อเจ้อไร้สาระแก่นสาร พูดดีใส่ตนชั่วให้ผู้อื่น ดุด่า พูดทะเลาะกับผู้อื่น พูดหยาบคาย เป็นต้น
๓.    ทางใจ หรือความคิดเช่น จมหมกมุ่นอยู่ในเรื่องเก่าๆ คิดอะไรไม่ออก วนเวียนจมอยู่กับความคิด ชอบแก่งแย่ง อิจฉาริษยา มีทุกข์ในใจในเรื่องเก่าๆ หลับยากเพราะฟุ้งซ่าน โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ เครียด แค้น วิตกกังวล ชีวิตไม่มีความสุขแม้จะมีเงินทอง มีปัญหาครอบครัว กลุ้มใจ เป็นต้น

อริยสัจ ๔

พุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันหมดเพราะมีขันธ์ ๕(รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) หรือ รูป ๑ นาม ๔ ซึ่งทุกอย่างตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป  มนุษย์ทุกคนมีความทุกข์ทางใจ ไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นการไม่ประมาท ควรหาวิธีบรรเทาล่วงหน้า มิฉะนั้นปัญหาอาจจะสะสมมากขึ้น ยากต่อการแก้ไขจนก่อเกิด ความทุกข์ที่รุนแรง จึงควรป้องกันรักษาโรคทางใจเสียแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกาย ยังแข็งแรงอยู่ จะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและปฏิบัติ ตามคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ เพื่อดับทุกข์ในขันธ์ ๕ ดังจะอธิบายต่อไปนี้


               ๑.     ทุกขอริยสัจ

ทุกข์ ได้แก่ ทุกข์ในขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ย่อลงมาในแนวปฏิบัติ เหลือเพียง รูปและนาม หรือ กายและใจ ซึ่งทุกข์มี ๔ ประเภทดังนี้ 
๑)  ทุกขเวทนา คือการทนได้ยาก ลำบาก เดือดร้อน เพราะได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ ทางกายและทางใจ
                    ๒)  ทุกขสภาวะ คือสภาวธรรม ๓ อย่างคือ ที่ไม่เที่ยง ต้องเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง), รูปนามไม่คงทนอยู่ได้ ต้องเสื่อมสลายแตกดับไป(ทุกขัง) และไม่มีตัวตน หรือไม่อยู่ในอำนาจที่จะบังคับบัญชาได้ โดยต้องเป็นไปตามธรรมชาติของรูปนามเท่านั้น(อนัตตา)  ทุกขสภาวะอีกเรื่องคือ การเปลี่ยนแปลงของชีวิต ที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีใครหนีพ้น มีการเสื่อมไปในอวัยวะของทุกคน ได้แก่ การเกิด แก่ เจ็บป่วย และตาย 
๓)  ทุกขลักษณะ คือการมีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมเรียกว่าไตรลักษณ์ ซึ่งมีความหมายเหมือนกับทุกขสภาวะ  บุคคลจะรู้แจ้งในทุกขสภาวะและทุกขลักษณะ ได้ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุวิปัสสนาญาณ ๑๖ 
๔)  ทุกขอริยสัจ คือความทุกข์ที่ละเอียดลึกซึ้งโดยไม่ใช่เป็นเพียงอารมณ์ทุกขเวทนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สุขเวทนา (อารมณ์สุข) และอุเบกขาเวทนา (อารมณ์เฉยๆ) ด้วย ซึ่งเป็นทุกข์ เพราะทุกรูปนามตกอยู่ในกฏไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา หรือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป) ของรูปนาม, ร่างกาย หรือขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทุกขอริยสัจนี้พระอริยะเห็นแจ้ง ได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเข้าถึง อารมณ์พระนิพพาน และได้บรรลุถึงโลกุตตรปัญญาของจิต

ความทุกข์ต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นที่จิตใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีโอกาสศึกษา ไม่สนใจและยังละเลย ความรู้เรื่องของจิต เพราะการศึกษายุคปัจจุบัน มุ่งเน้นแต่วิชาการภายนอก ในการทำมาหากิน จึงมีเพียงส่วนน้อยที่สนใจ หรือมีโอกาสศึกษาเรื่องของจิต ซึ่งมีค่ามาก และเป็นแก่นแท้สำคัญที่สุด แม้ว่าคนที่มีการศึกษาดี มีความร่ำรวย มีการงานดี มีครอบครัวดี หรือมีเงินทองของใช้สมบูรณ์ก็ตาม ก็ยังต้องประสบกับความทุกข์ทางกายและใจ ไม่มากก็น้อย ซึ่งปัญหาเรื่องทุกข์นั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก


๒.    สมุทัยอริยสัจ

ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์(สมุทัย)ได้แก่ ตัณหาของความอยากต่างๆ ทั้งที่ชอบใจ(โลภะ) และไม่ชอบใจ(โทสะ) ที่เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน(การยึดมั่นในอารมณ์) ก่อเกิดภพชาติใหม่ หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ตัณหามี ๓, ๖, และ ๑๐๘ ประเภท แต่สำหรับแนวทางเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนา ตัณหาสำคัญที่ควรรู้ได้แก่ ตัณหาที่เกิดทางทวาร ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)


๓.     นิโรธอริยสัจ

เป้าหมายของการดับทุกข์(นิโรธ) คือความสุขและการบรรเทาทุกข์ทางใจ(ตัณหาทางทวารทั้ง ๖) ให้เบาบางลงจนกว่าจะหมดสิ้นไปเพื่อมุ่งหน้าสู่ความสุขสูงสุดคือการบรรลุพระนิพพาน(การดับของรูปนามหรือชีวิต โดยไม่กลับมาเกิดในภพภูมิอีก)  ดังนั้นการศึกษาเรื่องความสุขจะเป็นประโยชน์เพราะทำให้เกิดความสุขมากกว่าที่เคยมีมา ซึ่งหลายคนมักจะไม่เข้าใจว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริงและเพื่อจะได้เข้าใจถึงระดับของความสุข ๓ ระดับ จากน้อยไปหามากดังนี้


๑)  กามสุข คือความสุขจากการเสพทางทวารทั้ง ๖(ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามีแต่กามสุขและแสวงหาแต่กามสุขเช่น มีการศึกษาดี มีงานดี มีธุรกิจของตัวเอง มีครอบครัวดี มีเงินทอง มีบ้าน มีรถ มีของ กินอาหารอร่อยๆ ไปเที่ยวต่างประเทศ มียศ มีเกียรติ มีหน้าตาในสังคม เป็นต้น  ระยะเวลาของการได้รับกามสุขจะสั้นและไม่เกิดขึ้นนานหรือถาวร ซึ่งกามสุขไม่ใช่ความสุขสูงสุดอย่างเดียวสำหรับมนุษย์  เนื่องจากความสุขจะต้องเกิดขึ้นที่ใจและวิธีที่ทำให้ใจมีความสุขนั้นจึงมีความสำคัญมากที่สุด 


๒)  สมาธิสุข สำหรับบุคคล ๒ ประเภทได้แก่ ความสุขสงบของมนุษย์ปุถุชนจากการปฏิบัติ สมถกัมมัฏฐาน จนได้ถึงขั้นรูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ หรือฌานสมาบัติ  และความสุขสงบของอริยบุคคล จากการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเข้าถึง ผลสมาบัติ(สำหรับพระโสดาบันขึ้นไป) หรือเข้าถึงนิโรธสมาบัติ(สำหรับพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ที่ปฏิบัติได้ถึงสมาบัติ ๘) สมาธิสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจเป็นอารมณ์ที่สงบเย็น ละเอียดอ่อน นุ่มนวล ลึกซึ้ง และเกิดขึ้นได้ยาวนานมากกว่ากามสุขที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะสั้นๆ คนรวยหรือคนมียศตำแหน่งสูง หากไม่เคยปฏิบัติถึงสมาธิสุข ย่อมได้รับแต่กามสุข ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเพียงชั่วขณะ ไม่ยาวนาน หายไปได้รวดเร็ว และไม่สงบเย็นลึกซึ้งเท่ากับสมาธิสุข ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรวย มีความรู้มาก หรือไม่ว่าชนชั้นในระดับใด ก็สามารถปฏิบัติถึง สมาธิสุขได้เท่าเทียมกัน


๓)  นิพพานสุข คือโลกุตตรสุขที่ได้เข้าถึงอารมณ์พระนิพพานจากการเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยจะได้รับความสุขบริบูรณ์เมื่อได้เข้าถึงอารมณ์พระนิพพานครบ ๔ ครั้งจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะจะไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิอีก ซึ่งเป็นการพ้นทุกข์ถาวรในขันธ์ ๕ การเข้าถึง อารมณ์พระนิพพาน แม้เพียงครั้งเดียว ก็นับว่ามีความสุขสงบมากกว่าบุคคลที่ไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ว่าจะมีตำแหน่ง ยศ ฐานะ หรือความร่ำรวยเท่าใดก็ตาม

นิพพานคือเป้าหมายที่เป็นความสุขสูงสุดของผู้ปฏิบัติ เพราะทำให้หลุดพ้นออกจากการเวียนว่าย ตายเกิดจากทุกขเวทนาและทุกขอริยสัจของชีวิต  นิพพานเป็นเส้นทางที่ประเสริฐสุดของ
ทางไปเกิด ๗ สาย ที่มนุษย์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ดังนี้

(๑)    นรก ๔๕๗ ขุม สำหรับผู้ที่ตายไปพร้อมกับจิตโทสะ

(๒)    เปรต ๒๑ พวก และอสุรกาย ๑๐ พวก สำหรับผู้ที่ตายไปพร้อมกับจิตโลภะ

(๓)    สัตว์เดรัจฉาน ๔ ประเภท สำหรับผู้ที่ตายไปพร้อมกับจิตโมหะ

(๔)      มนุษย์ สำหรับผู้ที่รักษาศีล ๕ และประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งประกอบด้วย กายกรรม ๓ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ และมโนกรรม ๓ คือไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา หรือไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

(๕)      สวรรค์ ๖ ชั้น สำหรับผู้ที่กระทำมหากุศล ๘ นอกเหนือจากรักษาศีล ๕ และทำสิ่งที่เป็นกุศล(ความดีต่างๆ) เช่น การทอดกฐิน ถวายผ้าป่า ถวายทาน การฟังธรรม เป็นต้น

(๖)      พรหม ๒๐ ชั้น สำหรับผู้ที่ตายไปพร้อมกับจิตที่เป็นสมาธิจากการเจริญ สมถกัมมัฏฐาน เข้าสู่ความสงบของจิต ๔๐ วิธี หรือผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุพระอนาคามี

(๗)      นิพพาน สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ครบ ๔ ครั้ง ทำให้หมดกิเลส(โลภ โกรธ และ หลง) เมื่อจุติจิต(ตาย)แล้ว จะไม่มีปฏิสนธิจิต(เกิด)อีก และไม่ต้องกลับมาเกิด ในวัฏฏสงสารที่มีถึง ๓๑ ภพภูมิอีกต่อไป


๔.     มัคคอริยสัจ

ข้อปฏิบัติเพื่อบรรเทาและลดความทุกข์ทางใจเพื่อเข้าสู่ความสุขระดับสูงกว่ากามสุขสำหรับพุทธศาสนิกชน มีดังนี้


๑)  หลักสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตามหลักคำสอนสำคัญ ๓ ประเภทคือ การทำดี, ไม่ทำชั่ว และชำระจิตให้ผ่องใส เพื่อพัฒนาจิตใจ, บรรเทาทุกข์(โลภ โกรธ หลง) และเพิ่มความสุข


                      (๑)  ทำดี ได้แก่ การทำทานที่เป็นการให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน เช่น ปัจจัยทาน (เงิน) ทานด้วยสิ่งของ ทานด้วยแรงงาน สังฆทาน และธรรมทาน เพื่อให้คนอื่นพ้นทุกข์ ซึ่งจัดเป็นสุดยอดทาน


                      (๒)  ไม่ทำชั่ว ได้แก่ การรักษาศีล เพื่อควบคุมทาง กาย วาจา และใจ ตามหลักของ ปริสุทธิศีล ๔ ประเภท คือ


ก.  ปาฏิโมกขศีล  ได้แก่ ศีล ๕, ๘, ๑๐, ๒๒๗ ของพระสงฆ์

ข.  อินทรีสังวรศีล ได้แก่ การสำรวมระมัดระวัง จิตใจอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ค.  อาชีวปริสุทธิศีล ได้แก่ การสำรวมในอาชีพที่ดี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ การค้ามนุษย์ การขายอาวุธ ขายเหล้า ขายยาเสพติดของมึนเมา ขายอุปกรณ์ฆ่าสัตว์ เป็นต้น

ง.  ปัจจยสันนิสิตตศีล ได้แก่ การสำรวมในการใช้ข้าวของเครื่องใช้ ที่ซื้อมาหรือได้มา โดยรู้จักใช้อย่างมีค่า และมีความพอเพียงต่อของใช้ต่างๆ


                      (๓)  ชำระจิตให้ผ่องใส  ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตด้วยการภาวนา ๒ ประเภท


ก.  สมถภาวนา(สมถกัมมัฏฐาน) คือการตั้งใจปฏิบัติให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์ที่บริกรรมและเพ่งอยู่ เพื่อข่ม โลภะ โทสะ และโมหะ ไว้ชั่วขณะที่ยังมีสมาธิอยู่  วิธีนี้ไม่ใช่การประหารกิเลส (โลภ โกรธ หลง) ที่ยั่งยืนถาวร    


ข.  วิปัสสนาภาวนา(วิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือสติปัฏฐาน) คือการปฏิบัติโดยเจริญสติรู้เท่าทันอารมณ์ เพื่อให้เห็นพระไตรลักษณ์หรือการเกิดดับของรูปนาม จนทำให้จิตเกิดปัญญา ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และไม่หลงติดอยู่กับ อารมณ์หรือกิเลส ซึ่งทำให้ประหาร โลภ โกรธ หลง ได้อย่างยั่งยืนถาวร


๒)  หลักสำหรับนักปฏิบัติ(โยคี)


หลักสำคัญสำหรับนักปฏิบัติ(พระสงฆ์และฆราวาส) ในการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิต ให้ได้ถึง พระนิพพาน ได้แก่ หลักไตรสิกขา ที่ประกอบด้วย การรักษาศีล, การทำจิตให้มีสมาธิ และพัฒนาจิต ให้เกิดปัญญา หรือ ทางสายกลางของมรรคมีองค์ ๘ ด้วยการเจริญปัญญา ๓ ประเภท ดังนี้


(๑)  สุตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการอ่าน ดู ฟัง และถาม ซึ่งเป็นปัญญาพื้นฐาน เบื้องต้น หรือข้อมูลดิบ  ปัญญาขั้นนี้จัดว่าเป็น ปัญญาระดับความจำ(สัญญา)


(๒)  จินตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากความนึกคิด ที่มาจากข้อมูลดิบเบื้องต้น ในความทรงจำ (สุตมยปัญญา) แล้วนำเอามาคิดพิจารณา นึกถึง คาดคะเน และวิเคราะห์ ความรู้ ที่ได้ร่ำเรียนจำมา โดยที่ยังไม่ใช่ปัญญาแท้จริงสำหรับลดละ โลภ โกรธ หลง จริงๆ ได้

(๓)  ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการอบรมจิตด้วยการเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้เกิด การไม่ยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์ใดๆ เพื่อการลดละ โลภ โกรธ หลง และตัดวัฏฏสงสารให้สั้นลง โดยมุ่งหน้าสู่จุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน

            ตัวอย่างของปัญญา ๓ ของอิริยาบถย่อยในชีวิตประจำวัน เรื่องการจัดการความโกรธเบื้องต้น ในกรณีที่ท่านไม่เคยมีความรู้ในเรื่องจิต หรือวิธีจัดการความโกรธ มาก่อน  ท่านต้องศึกษาจากการอ่านหนังสือ ฟัง หรือถามผู้รู้ เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของจิต และวิธีจัดการ ความโกรธ  ปัญญาขั้นนี้เป็นการศึกษาในระดับทฤษฎี ก่อนการนำไปสู่การปฏิบัติจริงที่เรียกว่า สุตมยปัญญา
            เมื่อศึกษาเข้าใจจนจำได้ในเรื่องจิตหรือวิธีการจัดการความโกรธ  ต่อมาเมื่อมีเวลาว่าง พยายามนึกคิดถึงเรื่องที่ได้ศึกษามาก่อน เพียงแต่ยังไม่ได้เผชิญกับความโกรธในสถานการณ์จริง และยังไม่แน่ใจว่าจะจัดการได้จริงหรือเปล่า  ปัญญาที่เกิดในขณะที่นึกคิดนี้เรียกว่าจินตามยปัญญา 
            ปัญญาขั้นสูงสุดคือปัญญาที่เกิดจากการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์โกรธ ซึ่งเกิดขึ้นจริง ในขณะนั้น โดยสามารถปล่อยวางในอารมณ์ ไม่ยึดติด ไม่หลงใหล หรือปรุงแต่งไปตามอารมณ์โกรธ จนทำให้ความโกรธเบาลงหรือหายไปที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา
  
            ตัวอย่างของปัญญา ๓ ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้แก่
ขั้นที่ ๑ รู้ตามหลักปริยัติ คือจำวิธีปฏิบัติได้เรียกว่าสุตมยปัญญา ได้แก่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ (อธิบายไว้ในวิปัสสนาญาณ ๑๖)
ขั้นที่ ๒ รู้รูปนาม คือสามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้เช่น เสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม รู้อย่างนี้ให้มากแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามหรืออารมณ์จะลดลง บางครั้งยังสามารถรู้เหตุรู้ผล ของรูปนามได้เช่น บางครั้งรูปเป็นเหตุ นามเป็นผล (มีเสียงก่อนแล้วจึงกำหนดรู้ตามทีหลัง), บางครั้งนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล (รอหรือตั้งใจไปรอหาเสียง ก่อนเสียงเกิดขึ้นจริง) ต่อมาเมื่อปฏิบัติ ได้สูงขึ้นจนทำให้จิตเกิดปัญญารู้ว่า รูปนามเป็นของไม่เที่ยง, ทนอยู่ไม่ได้และบังคับบัญชาไม่ได้จริงๆ เรียกว่าจินตามยปัญญา คือวิปัสสนาญาณที่ ๒ (ปัจจยปริคหญาณ) และญาณที่ ๓ (สัมมสนญาณ)
ขั้นที่ ๓ รู้และเห็นทั้งความเกิดและความดับของรูปนาม รวมถึงทุกสรรพสิ่งจนหายสงสัย ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา ได้แก่การปฏิบัติวิปัสสนาจนได้ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๔ (อุทยัพพยญาณ) แล้วทำต่อจนถึงญาณสุดท้ายที่ ๑๖  คือปัจจเวกขณญาณ

บุคคลที่มีศักยภาพทางปัญญา สามารถศึกษาจากตำราและปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ได้เองเพื่อลดละโมหะ โลภะ และโทสะ  แต่ถ้าปฏิบัติเองแล้ว ยังสู้กับกิเลสทั้ง ๓ ไม่ได้ การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจึงเป็นหนทาง สำหรับฝึกฝนจิตเพื่อบรรเทาความโกรธ ทำให้จิตเกิดกุศล ไม่มีโทษภัยใดๆ และเป็นประโยชน์เหมาะแก่ทุกเพศวัย ด้วยการฝึกการกำหนดในขณะอิริยาบถย่อย เดินจงกรม และนั่งสมาธิ เพื่อให้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ในการลดละกิเลส ๓
วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาขั้นสูงสุดของพุทธศาสนา ซึ่งสอนว่า ธุระสำคัญของการศึกษาพุทธศาสนามี ๒ อย่างคือคันถะธุระ(ศึกษาจากตำรา) และวิปัสสนาธุระ(ฝึกปฏิบัติที่จิต) ฉะนั้นการอ่านตำราอย่างเดียวโดยไม่ได้นำไปปฏิบัติที่จิต จะเป็นเพียงแค่ความจำ ที่เป็นกุศล ซึ่งไม่สามารถสร้างจิตให้เกิดปัญญาขั้นสูงสุดได้ แต่ถ้าได้ฝึกวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องกับ วิปัสสนาจารย์ที่มีประสบการณ์ แม้ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางธรรมะ ย่อมเข้าถึงปัญญาสูงสุดได้ในไม่ช้า 

กัมมัฏฐาน ๒ ประเภท

การปฏิบัติธรรมที่ใช้ในพระไตรปิฎกได้แก่คำว่าภาวนา หรือ กัมมัฏฐาน(ภาษาบาลี) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์รุ่นหลัง
(ชั้นอรรถกถา) โดยทั้ง ๒ คำมีความหมายเดียวกันคือเป็นที่ตั้งแห่ง การงานทางใจ และเป็นการกระทำเพื่อฝึกฝนตนเพื่อให้ได้บรรลุฌาน มรรค ผล และนิพพาน  

ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตจะใช้คำว่ากรรมฐาน ในการเจริญกัมมัฏฐานของพระพุทธศาสนามี ๒ วิธี คือ สมถและวิปัสสนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๒ ประการนี้เพื่อสลัดความไม่ประมาท และเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ธรรม ๒ อย่างนั้นได้แก่ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑


๑.  สมถกัมมัฏฐาน

กัมมัฏฐานแบบสมถคือการฝึกสติให้ตั้งมั่นในอารมณ์เดียวเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิโดยมีวิธีฝึก๔๐ แบบ  อานิสงส์หรือผลของสมถได้แก่การบรรลุถึงอภิญญา(ความสามารถพิเศษของจิต) และทำให้ได้ ฌานสมาบัติ  แม้การฝึกสมาธิจะทำให้เกิดความสงบของจิตและได้บุญกุศลก็ตาม  แต่การฝึกจิต ให้มีสมาธิอย่างเดียวนั้นไม่ได้ทำให้โมหะ โลภะ โทสะ ลดลงได้ เพียงแต่ข่มไว้ชั่วคราวในขณะที่จิต ยังมีสมาธิอยู่เท่านั้น  เมื่อจิตคลายออกจากสมาธิแล้ว กิเลส ๓ จะกลับมีเท่าเดิม  แต่การฝึก สมถกัมมัฏฐานนั้นมีประโยชน์เพราะสามารถนำเอาไปเป็นฐาน เพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป


๒.    วิปัสสนากัมมัฏฐาน

กัมมัฏฐานวิธีนี้พระพุทธองค์ทรงเน้นสอนและสรรเสริญมากที่สุด ซึ่งทำได้ด้วยการเจริญสติตั้งมั่น ในการกำหนดรูปนาม โดยมีอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) จนจิตเกิดปัญญา และมีอานิสงส์ให้บรรลุถึงมรรค ผล และนิพพาน
           พระพุทธองค์ทรงเทศน์สอนเรื่องการปฏิบัติทั้ง ๒ แบบ(สมถและวิปัสสนา)  วิธีปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมเรียกว่าสติปัฏฐาน  ในพระไตรปิฎกเรียกการเจริญสติปัฏฐานให้มาก อย่างต่อเนื่องนี้ว่า วิปัสสนาภาวนา โดยต่อมา อาจารย์รุ่นหลังนิยมใช้คำว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งทั้ง ๓ คำ มีความหมายและวิธีปฏิบัติเหมือนกันคือ เป็นการเจริญสติปัฏฐาน จนทำให้จิตเกิดปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา


วิปัสสนากัมมัฏฐาน ๒ ประเภท

๑.     สมถยานิกะ
โยคีผู้ปฏิบัติด้วยการฝึกจิตจนได้สมาธิถึงระดับลึก (ฌาน) ให้ได้ก่อนแล้วใช้สมาธิเป็นบาทฐาน เพื่อเจริญวิปัสสนาต่อจนได้เข้าสู่อารมณ์พระนิพพาน เรียกว่า พวกเจโตวิมุตติ หรือ ฌานลาภีบุคคล       

๒.    วิปัสสนายานิกะ   
          โยคีผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้ฝึกจิตจนได้สมาธิในระดับลึก (ฌาน) ให้ได้ก่อน แต่ปฏิบัติเพียงแค่ขณิกสมาธิ (สมาธิเพียง ชั่วขณะ) ควบคู่ไปกับสติของวิปัสสนา โดยใช้รูปนามเป็นอารมณ์ เพื่อให้เห็น ไตรลักษณ์ ในการสร้างปัญญาจนเข้าถึงอารมณ์พระนิพพานเรียกว่า พวกปัญญาวิมุตติ หรือ สุกขวิปัสสก 
____________________