Vipassana - Mindfulness Meditation, Bangkok, Thailand

Vipassana - Mindfulness Meditation, Bangkok, Thailand

menu

[ หน้าแรก คำนำ ]
[ ปัญหาจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ]
[ ภาคปริยัติ (ทฤษฎี) - พื้นฐานหลักธรรมของชีวิต ]
[ ประวัติกรรมฐานในสมัยพุทธกาล ]
[ ประวัติกรรมฐานในประเทศไทย ]
[ หลักฐานอ้างอิงของ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในพระไตรปิฎก และคีมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ]
[ ตารางเปรียบเทียบ วิปัสสนากรรมฐาน รูปแบบบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ กับ มหาสติปัฏฐานสูตร ๒๑ บรรพ ]
[ ตารางเปรียบเทียบ กรรมฐานในสมัยพุทธกาล, วิปัสสนาญาณ ๑๖, วิสุทธิ ๗, ไตรสิกขา และอริยมรรคมีองค์ ๘ ]

[ ***ประโยชน์ของ การเจริญสติปัฏฐาน (วิปัสสนากรรมฐาน) ตามแนวของพระพุทธศาสนา ๓๑ ประการ - ฺฺBENEFITS OF VIPASSANA MINDFULNESS BUDDHISM MEDITATION ]

[ ***ประโยชน์ของ การเจริญสติ / สติคลายเครียด ตามแนวของจิตวิทยาทางการแพทย์ ๓๑ เรื่อง - BENEFITS OF MINDFULNESS in PSYCHOLOGY AND NEUROSCIENCE ]
[ ภาคปฏิบัติ และ เทคนิค ในวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ]
[ *****วิปัสสนาญาณ ๑๖ - เส้นทางและเป้าหมายของวิปัสสนากรรมฐาน ในรูปแบบกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ]
[ ปัจจัยที่ทำให้ วิปัสสนาญาณ ๑๖ ก้าวหน้า ]
[ ภาคปฏิเวธ ]

[ ประวัติ / ประสบการณ์การสอนวิปัสสนา เจริญสติ และการบรรยายของ อ.อณิวัชร์ เพชรนรรัตน์ - ผู้ก่อตั้ง ชมรมศูนย์เจริญสติ ]
[ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ แก่ ชุมชนรอบวัดและประชาชนทั่วไป ]
[ ประวัติแม่ชีบุญมี เวชสาร - วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร กรุงเทพฯ วิปัสสนาจารย์ สายพองยุบ ศิษย์ของ พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะมหาเถระ สำนักวิเวกอาศรม จ.ชลบุรี ]
[ ประวัติการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานของ แม่ชีบุญมี เวชสาร ]

[ เปิดสอน - 1.1 การเจริญสติ พัฒนา โรคทางใจ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR MENTAL DISORDERS and SUFFERINGS เช่น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder - MDD) โรคย้ำคิดย้ำทำ(Obsessive Compulsive Disorder - OCD) โรคเครียด(Stress Reduction) โรควิตกกังวล(General Anxiety Disorder - GAD) โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (posttraumatic stress disorder - PTSD) โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder - ADHD) การเจ็บป่วยเรื้อรัง โรคนอนหลับยาก โรคโกรธง่าย และโรคทางใจอื่นๆ ด้วยหลักเจริญสติ ผสมผสานกับ หลักการและแนวคิดเพื่อพัฒนาปัญญา/สมอง ]

[ เปิดสอน - 1.2 การเจริญสติ ช่วยบรรเทา ลด ละ การติดยาเสพติด และป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR DRUG ADDICTED AND RELAPSE PREVENTION ]

[ เปิดสอน - 2. การเจริญสติ พัฒนานิสัยอารมณ์ตนเอง, ปัญหาการทำงาน/อาชีพ และ ปัญหาในครอบครัว - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR SELF, CAREER AND FAMILY HAPPINESS ]

[ เปิดสอน - 3. การเจริญสติ พัฒนาการเรียน สำหรับ นักเรียน และ นิสิต – MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR STUDENT EDUCATION ]

[ เปิดสอน - 4. การเจริญสติ พัฒนาการสอน/เลี้ยงลูก สำหรับ คู่สามีภรรยา – MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR CHILD TEACHING & PARENTING PREPARATION ]

[ เปิดสอน - 5. การเจริญสติ พัฒนาสมอง/ความจำ สำหรับ ผู้เกษียณ และ ผู้สูงอายุ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR RETIRED AND ELDERLY ]

[ เปิดสอน - 6. การเจริญสติ พัฒนานิสัยอารมณ์ /ปัญญา/ เป้าหมายของการบวช/ ไตรสิกขา เพื่อเป็นคนดีของครอบครัว ที่ทำงาน และสังคม สำหรับ พระภิกษุบวชใหม่ - MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT FOR NEW BUDDHIST MONKS ]

[ 7. สนับสนุนสร้าง ศูนย์เจริญสติ - วิปัสสนากัมมัฏฐาน ประจำวัด และ ถวายสอน วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อสร้าง พระวิปัสสนาจารย์ - VIPASSANA MINDFULNESS MEDITATION CENTER IN A TEMPLE AND VIPASSANA MEDITATION MASTER FOR MONKS ]

[ 8. กิจกรรมแนะนำ และ สนับสนุนพัฒนาวัด เพื่อสร้าง แผนกปริยัติ ปฏิบัติ และ งานเผยแผ่ แก่ชุมชน - TEMPLE DEVELOPMENT CONSULTANT AND SUPPORT FOR KNOWLEDGE THEORY SECTION, PRACTICE SECTION AND BUDDHIST DISSEMINATION FOR COMMUNITY SERVICES ]

[ 9. VIPASSANA MINDFULNESS MEDITATION IN BANGKOK FOR FOREIGNERS TO DEVELOP SELF TEMPER/EMOTION, WORK/CAREER AND FAMILY HAPPINESS FOR FREE AS PUBLIC SERVICES AND BUDDHIST DISSEMINATION ]

[ 10. MINDFULNESS & INTELLIGENCE DEVELOPMENT AT WORK - การเจริญสติ/ปัญญา ในที่ทำงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้เกิดความสุข ปัญญา พัฒนาการทำงาน ปรับปรุงนิสัยตนเอง และ สร้างความสุขในครอบครัว ]

[ 11. MINDFULNESS AT SCHOOL - การเจริญสติใน โรงเรียน แก่ครู เพื่อสอนนักเรียน ในการพัฒนาการเรียน นิสัย ปัญหาครอบครัว สังคมเพื่อน และอนาคต ให้เกิดความสุข / ปัญญา ]

[ 12. CASE STUDIES FOR MENTAL DISORDER BY MINDFULNESS MEDITATION - กรณีศึกษา : ผู้เข้ารับการฝึกเจริญสติ เพื่อบรรเทาช่วยเหลือ โรคทางใจ เช่น โรคแพนิค โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคนอนหลับยาก โรคย้ำคิดย้ำทำ นอนหลับยาก ]

[ 13. กิจกรรมบริจาคทาน ของ ชมรมศูนย์เจริญสติ วัดลาดพร้าว ]

[ ALMA MATER and EXPERIENCES BACKGROUND OF VIPASSANA MEDITATION TEACHER ]


ประวัติกัมมัฏฐานในประเทศไทย


             ดินแดนสุวรรณภูมิแถบนี้ ปรากฏซากศพมนุษย์อายุ ๒๐,๐๐๐ ปี แต่เผ่าพันธุ์ได้สูญสิ้นไปสมัยใดไม่ทราบ  ศูนย์กลางของชนชาติไทย ราว ๔,๐๐๐ ปีที่แล้วอยู่ภาคเหนือของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ต่อมาร่นมาทางใต้เรียกว่า เผ่าไทย  ที่ตั้งของเมืองไทยอยู่ในยูนานและเสฉวน  เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้วในเขตลุ่มเจ้าพระยา มีมนุษย์เผ่าละว้า ตั้งบ้านเรือนอย่างง่ายๆ ขึ้น  ต่อมาชาวอินเดียได้เข้ามาสอนอารยธรรมและตั้งอาณาจักรขึ้นปกครองชาวพื้นเมืองละว้า

          พุทธศาสนาเริ่มถูกเผยแผ่เป็นครั้งแรกในประมาณปีพ.ศ. ๒๓๕ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์ ด้วยการส่งพระธรรมทูต ๒ ท่านคือพระโสณะและพระอุตตระ เดินทางสู่ดินแดนแถบนี้ที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งมีมากกว่า ๗ ประเทศรวมกันเช่น ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย โดยมีพวกละว้าและมอญโบราณอาศัยอยู่  แต่หลักฐานใน“หนังสือ ๒,๔๐๐ ปีในแหลมทอง” ได้แสดงไว้ว่า แท้จริงชนชาติไทยมีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ก่อน ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วในบริเวณแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ และนับว่าเป็นครั้งแรกของดินแดนนี้ที่ได้เริ่มนับถือพุทธศาสนา

           ผืนแผ่นดินจุดแรกของอาณาจักรสุวรรณภูมิหรือที่เรียกกันว่า "แหลมทอง" ซึ่งท่านพระโสณะกับพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานนั้น จดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจังเรียกว่า "ทวาราวดี" สันนิษฐานว่าได้แก่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานประจักษ์พยานอยู่ว่าพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม

ยุคอาณาจักรฟูนัน กษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่นับถือพระพุทธศาสนามีพระนามว่า ขุนหลวงเม้า ในช่วงปีพ.ศ. ๖๐๐ สมัยอาณาจักรอ้ายลาวที่รับอารยธรรมมาจากอินเดียเต็มที่  ยุคนี้การศึกษาพุทธศาสนารุ่งเรืองมากด้านคำสอนและศาสนวัตถุ โดยมีทั้งแบบเถรวาทและมหายานร่วมกับศาสนาพราหมณ์  
ในยุคลพบุรี ศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘  พม่าได้โจมตีพวกมอญโดยยึดเอานครปฐมไป พระเจ้าอโนรชากษัตริย์พม่า ได้กวาดต้อนพระสงฆ์และศิลปกรสาขาต่างๆ กลับสู่พม่าจำนวนมาก โดยทิ้งอาณาบริเวณให้พวกขอมครอบครอง  ต่อมามีการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ และศาสนสถานเพิ่มเติม ในยุคนี้มีเทวสถานที่ลือชื่อมากเช่น ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทหินพิมาย และพระปรางค์สามยอด  ชาวบ้านที่เป็นพวกขอมจะนับถือพราหมณ์(ลัทธิศิวเวท) และพุทธศาสนามหายานผสมกัน

ช่วงศตวรรษที่ ๑๘ เกิดอาณาจักรน่านเจ้าปกครองโดยราชวงศ์เม็งราย  เมื่อพระเจ้าเม็งราย, พ่อขุนรามคำแหง และพระเจ้างำเมือง ได้ร่วมสาบานว่าจะไม่เป็นศัตรูกัน พร้อมกับจะร่วมรบปราบ อาณาจักรมอญแถบลุ่มแม่น้ำปิง  จนในที่สุดสำเร็จและได้จัดตั้งนวปุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ เป็นเมืองหลวงที่เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรลานนาไทย

ยุคต่อมาคือสมัยสุโขทัย ดินแดนที่ปกครองโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์(พระร่วง) ด้วยการบริหารแบบพุทธศาสนา ได้ตั้งมั่นในสุโขทัยและเลิกนับถือพุทธศาสนามหายานแบบขอม  ท่านยังนำเอาระบบปกครองตามแนวของพุทธศาสนาเถรวาทมาใช้ โดยได้รับพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์จากพระสงฆ์ชาวลังกา(ลังกาวงศ์)  ยุคนี้เริ่มปรากฏในประวัติศาสตร์บันทึกว่ามีพระสงฆ์ ฝ่ายอรัญวาสีคือมุ่งเน้นวิปัสสนาธุระมากโดยพบได้จากซากวัดที่สุโขทัย เชียงใหม่ และสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานสาขา ที่ วัดพระยืน จ.ลำพูน  แม้พระสงฆ์สมัยนั้นจะได้รับการฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานบ้าง แต่สำหรับชาวบ้านส่วนมากยังมุ่งเน้นการทำมาหากินมากกว่าการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

          ต่อมาสมัยอยุธยา ในศตวรรษที่ ๒๓ ปรากฏเรื่องวิปัสสนาธุระ โดยสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร(ศุข) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน(เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ของวัดมหาธาตุฯ จ.อยุธยา) ซึ่งเคยจำพรรษาที่วัดลานลอย อ.กรุงเก่า  ส่วนพระสงฆ์ด้านวิปัสสนาธุระฝ่ายอรัญวาสีอีกท่านคือพระวิสุทธาจารย์เถระ(เจ้าอาวาส วัดประดู่ทรงธรรม อ.กรุงเก่า) ได้เผยแผ่วิปัสสนาจนกระทั่งมรณภาพในยุครัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ครั้นถึงยุคกรุงธนบุรี  พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมากด้านศาสนสถาน เพราะมีการสร้างวัดมากมาย และจำนวนพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องตามชำระพระอลัชชี(พระนอกรีต) ด้วยการจับมาสึก  ยุคนี้คือยุคแรกที่สถาปนาองค์พระสังฆราช และยังได้ลอกพระไตรปิฎกลงในใบลาน อีกทั้งยังได้คัมภีร์วิสุทธิมัคค์จาก ประเทศเขมรอีกด้วย  ถึงกระนั้นการปฏิบัติธรรมก็ยังคงไม่แพร่หลายแก่ชาว บ้าน โดยที่ประวัติมิได้กล่าวถึงเรื่องกัมมัฏฐานมากนัก  แต่พระเจ้าตากสินทรงเคร่งครัดและฟื้นฟูพุทธศาสนา  เมื่อใดที่เสร็จราชการ ท่านจะทรงเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานที่วัดบางยี่เรือ (วัดอินทาราม ในปัจจุบัน) เรียกว่า ลักษณะบุญ โดยมิได้อธิบายละเอียดเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติด้วยรูปแบบใด

จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อพ.ศ. ๒๓๓๒ และเริ่มก่อสร้างวัดกับพระพุทธรูปหลายแห่ง  ต่อมาได้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร(ศุข) มาที่วัดพลับ จ.ธนบุรี เพื่อสถาปนาเป็นวัดหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ(วัดป่าอรัญวาสี)ชื่อว่า วัดราชสิทธาราม

พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากตราบจนปัจจุบันคือพระมหาโต ต่อมาได้รับเลื่อนเป็นสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหฺมรํสี) ท่านเป็นสามเณรนาคหลวงและได้ฝึกวิปัสสนาธุระในสำนักเจ้าคุณบวรวิริยเถร วัดสังเวชฯ บางลำภู กรุงเทพฯ ซึ่งมีความรู้สอนศิษย์ให้สอบบาลีเปรียญ ๙ ประโยคได้ แต่ท่านกลับไม่ยอมสอบไล่ ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ ๒ ที่เป็นโยมอุปัฏฐากจึงโปรดมอบเปรียญแก่ท่านทั้งที่ไม่ได้สอบ  

ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงจัดพระราชทานสมณศักดิ์หลายครั้งแก่ท่าน แต่ทุกครั้งที่จะมอบตำแหน่งให้สมเด็จโต ก็หลบหนีด้วยการไปธุดงค์  ท่านจะมีปฏิปทาและนิสัยแปลกในการสอนธรรมะ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๔  สมเด็จโตที่เรารู้จักกัน ท่านได้ถูกยกย่องเป็นพิเศษว่าได้วิมุติหลุดพ้นแล้ว

ในสมัยนี้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้นโดยพระวชิรญาณเถระ(เจ้าฟ้ามงกุฏ) ในสมัยที่ท่านทรงผนวชอยู่และศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส  ท่านได้ทรงเสด็จอุปสมบทใหม่ในปีพ.ศ. ๒๓๗๒  ต่อมาได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปีพ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จกลับมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ โดยใช้เป็นที่ตั้งและศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระภิกษุฝ่ายกัมมัฏฐานที่มีชื่อมากที่สุดคือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต  ท่านได้ฝึกกัมมัฏฐานกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺสีโล วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งต่อมาท่านได้เป็นพระอาจารย์ใหญ่แนวบริกรรมพุทโธ สายธรรมยุติ ที่มีลูกศิษย์ทั่วประเทศและแพร่หลายตราบจนปัจจุบัน 

ต่อมาในรัชกาลที่ ๙ พระภิกษุที่ได้ทำประโยชน์อย่างสูงสุดอีกท่านหนึ่ง ในการเผยแผ่ทั้งปริยัติ(การศึกษาพระอภิธรรม) และปฏิบัติ(วิปัสสนากัมมัฏฐาน-แนวบริกรรมพองยุบ สายมหานิกาย) คือพระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ) ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่ม สนับสนุน พัฒนา และทำให้วิปัสสนากัมมัฏฐานเผยแผ่สำนักไปกว่า ๔๐๐ แห่งทั่วประเทศ

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตและพระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ) เป็นพระภิกษุ ๒ รูปที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการวิปัสสนา ซึ่งทำให้ก่อเกิดสำนักปฏิบัติทั้งในและต่างประเทศ  แม้ว่าการปฏิบัติเบื้องต้นของทั้ง ๒ สายจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีจุดหมายและได้ผลเช่นกัน ซึ่งทั้ง ๒ สายมีประวัติกัมมัฏฐานดังนี้

ประวัติกัมมัฏฐาน สายธรรมยุติ - พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

พระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต พระอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และมีคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ตามแนวการปฏิบัติกัมมัฏฐาน (สมถยานิกะ) ด้วยองค์บริกรรม พุทโธ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์สายธรรมยุติ มีดังต่อไปนี้

สมัยสุโขทัย                           -ตามหลักภาวนานัยแห่งปปัญจสูทนี ในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย เริ่มมีการปฏิบัติสมถยานิกะ(เจริญสมถ ก่อนจึงเจริญวิปัสสนา) โดยพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ที่มุ่งเน้นวิปัสสนาธุระ ตามสำนักกัมมัฏฐานสาขาต่างๆ ใน จ.สุโขทัย เชียงใหม่ และลำพูน

สมัยกรุงศรีอยุธยา                -สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร(ศุข) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จ.อยุธยา ทรงสอนวิปัสสนาธุระจนกระทั่งถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ -สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร(ศุข) ย้ายมาที่วัดพลับ จ.ธนบุรี และได้รับการสถาปนาเป็นวัดหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ(วัดป่าอรัญวาสี) โดยต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชสิทธาราม

สมัยรัชกาลที่ ๒                    -พระมหาโต ต่อมาได้เลื่อนเป็น สมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหฺมรํสี) ได้ฝึก  วิปัสสนาธุระที่วัดสังเวชฯ บางลำภู กรุงเทพฯ และเผยแผ่จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยที่ท่านถูกยกย่องว่าได้วิมุติหลุดพ้นแล้ว

สมัยรัชกาลที่ ๔                    -เพิ่มนิกายพระสงฆ์ใหม่ชื่อ ธรรมยุติ จากเดิมที่มีแต่ มหานิกาย
-สนับสนุนให้เรียนบาลีศึกษา หลักสูตรเปรียญธรรม และนักธรรม (คันถธุระ) สำหรับพระภิกษุ เพราะตรวจสอบได้เป็นรูปธรรม
-มอบหมายให้พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สอนวิปัสสนาธุระเอง เพราะไม่มีพระอาจารย์ที่สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ตรงตามพระไตรปิฎก  
สมัยรัชกาลที่ ๕                    -เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เสนอว่าการปฏิบัติ
(๑๓ กันยายน พ.. ๒๔๓๙)  วิปัสสนาธุระนั้นไม่ได้เป็นไปตามคำสอนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงเสนอให้ยกเลิก
                                                  การสอนวิปัสสนาธุระของสายมหานิกาย
(๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙)      -การปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระได้ขาดหายไปจากหลักสูตรการศึกษา ของคณะสงฆ์ไทย
  -พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ฝึกกัมมัฏฐานกับ พระอาจารย์เสาร์ กฺนตสีโล  จากนั้นได้ธุดงค์ไปภาคอีสาน ปฏิบัติต่อจนได้บรรลุคุณวิเศษ และเผยแผ่กัมมัฏฐานแบบบริกรรม พุทโธ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสจนถึงปัจจุบัน โดยมีสำนักกัมมัฏฐานทั่วประเทศและทั่วโลก

สมัยรัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๘) -มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้บรรจุวิปัสสนากัมมัฏฐานรูปแบบบริกรรม พุทโธ        เป็นหลักสูตรปฏิบัติภาคบังคับ ๑๕ วันที่สอนโดยพระธรรมวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ)


ยุคร่วมสมัย     -พระเกจิอาจารย์กัมมัฏฐาน สายธรรมยุติ (บริกรรมพุทโธ) จากอดีตถึงปัจจุบันมีดังนี้

-พระอริยกวี(อ่อน)                                                     -พระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจันโท)
-สมเด็จพระมหาวีรวงค์(ติสฺโส อ้วน)                         -พระปัญญาพิศาลเถร(หนู จิตปญฺโญ)
-หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล                                              -หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต          
-พระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดูลย์ อตฺโล)                    -พระโพธิญาณเถร(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)          
-พระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)                  -พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ)   
-พระราชสังวรญาณ(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)                 -พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตาบัว สิริสัมปันโน)
-พระราชธรรมเจติยาจารย์(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)   -พระราชพิพัฒนาทร(ถาวร จิตฺตถาวโร)         
-พระวิสุทธิญาณเถระ(หลวงพ่อสมชาย จิตวิริโย)         -หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ  เป็นต้น

ประวัติกัมมัฏฐาน สายมหานิกาย - สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถร)

พระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ) ภายหลังได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ  ท่านมีวิสัยทัศน์และคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับ วงการวิปัสสนากัมมัฏฐาน(วิปัสสนายานิกะ) ตามรูปแบบบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ โดยได้ริเริ่มนำการสอนปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค และการเรียนพระอภิธรรมปิฎก (อภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท) มาร่วมเผยแผ่แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์สายมหานิกายมีดังนี้

รัชกาลที่ ๕ -การปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระได้ขาดหายไปจากหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙

พ.ศ. ๒๔๙๑   -พระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ) ได้ไปร่วมงานที่ท้องสนามหลวงและได้สนทนากับท่านอูละหม่อง เอกอัครราชทูต แห่งสหภาพพม่า จึงทำให้ท่านสนใจในพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกา ภาษาบาลีฉบับอักษรพม่า เพราะมีความสมบูรณ์ทางด้านคัมภีร์

พ.ศ. ๒๔๙๒   -สภาการพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่าได้ส่งผู้ชำนาญการสอน พระอภิธรรมปิฎก ๒ ท่านมาประเทศไทยคือ ท่านสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ สอนอยู่ที่วัดระฆังฯ(มรณภาพ ปีพ.ศ. ๒๕๐๙)  และท่านเตชินทะ ธัมมาจริยะสอนอยู่ที่วัดปรกพม่า(ได้กลับพม่าใน ปีพ.ศ. ๒๕๐๔)

พ.ศ. ๒๔๙๓   -ประเทศไทยได้รับพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกา จากประเทศพม่าจำนวน ๓ ชุด โดยมอบให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ๑ ชุด, มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ ชุด และแก่สำนักสอนพระอภิธรรม วัดระฆังโฆสิตาราม ๑ ชุด

พ.ศ. ๒๔๙๕   -พระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ)ได้อ่านหนังสือ พระวิสุทธิมัคคเผด็จ และเห็นว่าเมืองไทยยังไม่มี รูปแบบวิปัสสนาที่สอนตรงตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเรียบเรียงมาจากพระไตรปิฎก  ท่านจึงมีดำริให้ส่งพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ไปฝึกวิปัสสนาตามสำนักต่างๆ ในประเทศไทยและส่งไปที่พม่าเพื่อประโยชน์ด้านวิปัสสนาธุระ  ท่านจึงเป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิก สนับสนุน และเผยแผ่วิปัสสนาธุระที่สำคัญที่สุดของฝ่ายมหานิกาย

พ.ศ. ๒๔๙๖    -พระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ)ได้ส่ง พระมหาบำเพ็ญ กับสามเณรไสว ไปศึกษาคันถะธุระ และยังได้ส่ง พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ไปฝึกวิปัสสนาธุระ ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระโสภณมหาเถระ(พระมหาสีสยาดอ) ที่สำนักปฏิบัติวิปัสสนาสาสนยิสสา จ.ย่างกุ้ง ประเทศพม่า จนได้สำเร็จเป็นพระวิปัสสนาจารย์  ต่อมาได้กลับมาสอนที่วัดมหาธาตุฯ คณะ ๕ กรุงเทพฯ พร้อมกับพระธรรมทูตชาวพม่า(วิปัสสนาจารย์) ที่ร่วมเดินทางมาเผยแผ่วิปัสสนาธุระ ตามคำเชิญของพระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ) อีก ๒ ท่านคือ พระอินทวังสะ           (ไม่นานก็เดินทางกลับพม่า)  ส่วนพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ สอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่โบสถ์และในคณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ

พ.ศ. ๒๔๙๘   -ท่านได้นำวิปัสสนาธุระเสนอต่อคณะสังฆมนตรีและได้มีมติรับหลักการพร้อมกับยกวิปัสสนาธุระ เป็นกองการวิปัสสนาธุระของมหาเถรสมาคมในยุคนั้น

พ.ศ. ๒๕๐๕    -พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ได้ย้ายจากวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพ ไปสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. ๒๕๐๗   -พระพิมลธรรมถูกกลั่นแกล้งด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกบังคับให้สละผ้าเหลืองและถูกจำคุกที่สันติบาลด้วยเหตุผลทางการเมืองในขณะนั้น  ต่อมาท่านได้หลุดพ้นจากทุกข้อกล่าวหาและได้รับคืนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่เป็นที่น่าเสียดายของประเทศไทยที่ท่านไม่ได้กลับเข้าทำงานสู่ฝ่ายบริหารและพัฒนางานธุระสำคัญที่สุด ๒ ประการของคณะสงฆ์ไทยคือ

๑.  คันถะธุระ(การศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ)    
๒.  วิปัสสนาธุระ(การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔) 

พ.ศ. ๒๕๒๔    -มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แต่งตั้งกองวิปัสสนาธุระและได้เล็งเห็นความสำคัญ โดยบรรจุการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นหลักสูตรภาคบังคับแก่พระนิสิตและนิสิตทุกรูปคนในระดับปริญญาตรี โท และเอก

พ.ศ. ๒๕๔๑   -พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะรับนิมนต์ไปจำพรรษาที่ วัดภัททันตะอาสภาราม ต.หนองปรือ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 

ยุคร่วมสมัย       -วิปัสสนาจารย์และอาจารย์สายมหานิกาย(บางส่วน)ของสายบริกรรมพองยุบ มีดังนี้

-พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ          -พระธรรมธีรราชมหามุนี(โชดก าณสิทฺธิ)
-พระธรรมสิงหบุราจารย์(จรัญ ฐิตธมฺโม)             -พระเทพสิทธาจารย์(ทอง สิริมงฺคโล)      
-พระครูประจาก สิริวณฺโณ                                -พระอาจารย์สมภาร สมภาโร
-พระอาจารย์มหาเหล็ก จนฺทสีโล                      -พระอาจารย์สว่าง ติกฺขวีโร
-พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต                            -พระอาจารย์ไสว าณวีโร
-แม่ชีบุญมี เวชสาร                                         -คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย เป็นต้น

สายวิปัสสนาวงศ์ของวิปัสสนาจารย์รูปแบบบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ

ตามสายวิปัสสนาวงศ์ที่ปรากฎนามของลำดับพระวิปัสสนาจารย์ที่ได้ร่วมเผยแผ่วิปัสสนากัมมัฏฐานมีดังนี้

ช่วงเวลา            ชื่อของพระวิปัสสนาจารย์                                   สถานที่เผยแผ่

-สมัยพุทธกาล   -พระสัมมาสัมพุทธเจ้า                                     ประเทศอินเดีย

-พ.ศ. ๒๓๕       -พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ(ประธานสังคายนา)    กรุงปาฏลีบุตร  ประเทศอินเดีย
                      -พระโสณะอรหันต์  และพระอุตตระอรหันต์          สุธรรมบุรี  รัฐสุวรรณภูมิ
-ก่อน              -พระพุทธโฆสะ                                                ประเทศศรีลังกา

พ.ศ. ๑๐๐๐      ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาษามคธ(บาลี)           
  และ พระอนุรุทธาจารย์                                     ประเทศศรีลังกา
                        ผู้แต่งคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ภาษาสิงหล                    

-พ.ศ. ๑๐๐๐     -พระอโนมทัสสีอรหันต์                                                  
                        พระอธิสีลอรหันต์ มหาเถระ
                        พระปุราณทัสสีอรหันต์ มหาเถระ
                        พระมหากาฬอรหันต์  และ พระสีลพุทธิอรหันต์

-พ.ศ. ๑๕๔๑     -พระธรรมทัสสีอรหันต์                                      อริมัททนบุรี  รัฐสุวรรณภูมิ
                        พระอริยวังส มหาเถระ

-พ.ศ. ๑๘๕๕     -พระจุลอรหันต์เถระ และ พระทิพพจักษุเถระ          วิชัยปุระบุรี  รัฐสุวรรณภูมิ

-พ.ศ. ๑๘๘๓     -พระสุธรรมมหาสามีเถระ                   
                                       
-พ.ศ. ๑๙๔๗     -พระจาคม มหาเถระ                                        รัตนปุระธานี  ประเทศพม่า

-พ.ศ. ๒๐๙๗     -พระสัทธรรมกิตติ มหาเถระ                               ไชยปุระธานี
                        พระติสาสนธช มหาเถระ                                    
                        พระโชติปุญญ มหาเถระ                                   รัตนปุระธานี

-พ.ศ. ๒๑๘๓     -พระชมพูทีปธช มหาเถระ                                  ถ้ำสุวรรณคูหา  กุขนะธานี

-พ.ศ. ๒๑๙๐     -พระเขม มหาเถระ                                            
                        พระติรงคภิกขุ (พระติรงคะ สยาดอ)
                        พระอาจารย์ นโมอรหันต์
                        พระนารทภิกขุ หรือ พระมิงกุลโตญภิกขุ (พระมิงกุลเชตวันสะยาด่อร์)
                                                                                                    สุธรรมบุรี (เมืองสะเทิม)

-พ.ศ. ๒๔๙๒    -พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ ธัมมาจริยะ(พระอาจารย์มหาสีสยาดอ)(วิปัสสนาจารย์ใหญ่ - สำนักวิปัสสนาสาสนยิตสา)  เมืองย่างกุ้ง  ประเทศพม่า

-พ.ศ. ๒๔๙๕     -พระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ)                           กรุงเทพฯ  ประเทศไทย
(ผู้ริเริ่มและสนับสนุน วิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค)     
               
-พ.ศ. ๒๔๙๖    -พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ  
(วิปัสสนาจารย์ใหญ่รุ่นแรกในประเทศไทย)                       คณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ

-พ.ศ. ๒๕๐๕    -พระอาจารย์ ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็น  พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ                                                 อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ
(วิปัสสนาจารย์ใหญ่ - สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม) จังหวัดชลบุรี  ประเทศไทย

รูปแบบของสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานทั่วโลก

ปัจจุบันสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานในระดับสากลทั่วโลกมีประมาณ ๘ สาย (ช่วงปี 2561) ดังนี้

            สายที่ ๑ สำนักตามแนวของพระโสภณมหาเถระหรือพระอาจารย์มหาสีสยาดอ(Venerable Mahasi Sayadaw) พระภิกษุชาวพม่าที่ใช้รูปแบบกำหนดเดินจงกรม ๖ ระยะ, นั่งสมาธิบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ และให้กำหนดอิริยาบถต่างๆ ต่อเนื่องทั้งวัน  โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากประเทศอินเดีย เผยแผ่มาจนถึงประเทศพม่า ซึ่งมีสำนักวิปัสสนาอยู่ในทวีปเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป ประมาณ ๒๐ แห่ง ทั่วโลก  

            สายที่ ๒ สำนักของท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า (S.N. Goenka) ฆราวาสชาวอินเดียที่เดินทางมาค้าขายในพม่าและได้ไปฝึกวิปัสสนากับพระอาจารย์อูบาขิ่น(Venerable U Ba Khin) ภิกษุชาวพม่า ด้วยรูปแบบสติปัฏฐานแบบไม่มีองค์บริกรรม ในท่านั่งสมาธิอย่างเดียวประมาณวันละ ๑๐ ชั่วโมง  ปัจจุบันสำนักสายท่านโกเอ็นก้ามี สาขาทั่วโลกที่เป็นศูนย์ (Center) ๑๘๕ แห่ง และ
สถานฝึก (Non-Center) ๑๓๘ แห่ง รวมถึงประเทศไทยด้วย

            สายที่ ๓ สายท่านดาไล ลามะ พระธิเบตในประเทศอินเดีย สายวัชรยาน ด้วยการสอนที่เน้นบรรยาย ความรักและเมตตา(Loving Kindness and Compassion) แก่ทุกศาสนา ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นที่นิยมของนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และทุกสาขาอาชีพ  ปัจจุบันมีการสอนทำสมาธิ และฟังบรรยายธรรมะ ในอเมริกาประมาณ ๒๐ แห่ง, ในยุโรป ๒๐ แห่ง ในรัสเซีย ออสเตรเลีย บราซิล เมกซิโก และในเอเชียมีประมาณ ๗ แห่ง


            สายที่ ๔ สำนักของพระธรรมทูตไทยสายธรรมยุติ แบบอานาปานสติภาวนาบริกรรมพุทโธที่เริ่มด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม และอิริยาบถย่อย โดยปฏิบัติตามสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในวัดไทยทั่วโลกซึ่งเผยแผ่โดยพระสงฆ์สายธรรมยุติและพระธรรมทูติของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

            สายที่ ๕ สำนักของพระธรรมทูตไทยสายมหานิกาย แบบวิปัสสนาภาวนาบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ตามรูปแบบเดียวกับของพระอาจารย์มหาสีสยาดอ ซึ่งได้ถ่ายทอดแก่พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ-วิปัสสนาจารย์ของพระธรรมธีรราชมหามุนี(โชดก ญาณสิทฺธิ) และเป็นต้นแบบของวิปัสสนากัมมัฏฐานในการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบัน ที่สนับสนุนวัดไทยในต่างแดนด้วยการส่งพระธรรมทูตเผยแผ่ไปทั่วโลก

            สายที่ ๖ สาย มหานิกาย ตามแนวการสอนของ พระอาจารย์ชา สุภัทโท (Ajahn Chah) ในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่นิยม ของชาวต่างชาติ และมหาเศรษฐี ได้เข้ามาบวชกันมาก ตามรูปแบบสายวัดป่า (อรัญวาสี)

            สายที่ ๗ สายท่านติช นัท ฮัน พระชาวเวียตนามที่สอนอยู่ในฝรั่งเศส สอนการเจริญสติรู้ในปัจจุบัน (Now and Present Moment)

           สายที่ ๘ สายการเจริญสติ ตามแนวจิตวิทยาทางการแพทย์ (Mindfulness Meditation) ที่สอนโดยชาวตะวันตก ในมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ และศูนย์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่เน้นว่าการเจริญสติเป็นเรื่องศาสนา แต่เป็นของสากล สำหรับทุกชาติ/ศาสนา (Non-Secular / Non-Religion) ด้วยหลักสูตรดังนี้

            ๑. สติคลายเครียด ในหลักสูตร ๘ สัปดาห์
(MBSR - Mindfulness Based Stress Reduction 1979)

            ๒. สติบำบัดโรคทางใจ เช่น โรควิตกกังวล แพนิค ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ
(MBCT - Mindfulness Based Cognitive Therapy 1991)

            ๓. สติป้องกัน การกลับมาเสพ (ยาเสพติด) หรือเป็นโรคทางใจซ้ำอีก
(MBRP - Mindfulness Based Relapse Prevention 2010)

            ๔. หลักสูตร เจริญสติ (Mindfulness-Based) อื่นๆ เช่น
                 MBCP : Mindfulness-Based Childbirth and Parenting
                 MBTA : Mindfulness-Based Treatment Approaches
                 MBEAT : Mindfulness-Based Eating Awareness Training
                 MBEC : Mindfulness-Based Elder Care
                 MBCR  : Mindfulness-Based Cancer Recovery